>> ธุรกิจไอทีคู่คุณธรรม มุ่งส่วนรวมควบประโยชน์องค์กร
  
  เมื่อยุคดอทคอมบูมช่วงแรกๆ "พิพัฒน์ ยอดพฤติการ" เป็นชื่อแรกๆ ที่อยู่ในสนามดอทคอม ด้วยการเปิดบริษัทชื่อไทยดอทคอม จำกัด ให้บริการจดชื่อโดเมนเป็นภาษาไทย เพิ่มความสะดวกผู้ใช้ชาวไทย ที่ไม่สันทัดภาษาต่างประเทศ ในการค้นหาเวบไซต์

ต่อมาได้ขยับขยายสู่การพัฒนาระบบงานองค์กรแก่หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะด้านเวบเซอร์วิส และเป็นที่ปรึกษา เพื่อวิเคราะห์การใช้เครื่องมือ ทางเทคโนโลยีสารสนเทศมาแก้ปัญหาองค์กร ทั้งได้ทำโครงการศึกษา และจัดทำฐานข้อมูลกลุ่ม องค์กร พื้นที่ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต ของ สกว.

จากเส้นทางการดำเนินธุรกิจของชายผู้มีพื้นการศึกษาปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโทรคมนาคม และปริญญาโทวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ ที่มีประสบการณ์ทำงานเป็นวิศวกรออกแบบระบบไฟฟ้า ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัทเอคเซนเชอร์ ในด้านการจัดการและบริหารเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านอี-คอมเมิร์ซ และการประยุกต์ใช้อินเทอร์เน็ตในเชิงธุรกิจ เมื่อ 6-7 ปีก่อน

ปัจจุบัน แนวคิดการทำธุรกิจของเขา ผู้กำลังศึกษาหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาพระพุทธศาสนา กลับไม่ใช่มุ่งสู่ความเป็นเลิศ หรือเป็นที่ 1 ของตลาดอีกต่อไป หากผสานการตอบแทนสังคมด้วย ซึ่งกำลังเป็นแนวโน้มการทำธุรกิจยุคใหม่ของหลายๆ องค์กร รวมทั้งกิจการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ต่างมุ่งทำธุรกิจควบคู่คุณธรรม

"ช่วงเริ่มก่อตั้งบริษัท จะพยายามมองหาว่า ธุรกิจอะไรเป็นช่วงเติบโต และจะทำให้บริษัทกลายเป็นผู้นำตลาดได้ แต่ปัจจุบันได้เริ่มค้นหาวิชาชีวิต โดยอิงหลักศาสนาและธรรมะ ตามความสนใจของตัวเองและเพื่อนร่วมงาน จึงได้ผสมผสานการดำเนินธุรกิจพอประมาณ และใช้เวลาที่เหลือไปช่วยสังคม ไม่ใช่แข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตาย" พิพัฒน์ เล่า

พร้อมกับบอกว่า การดำเนินการของบริษัทไม่ใช่อวดรวย เพราะมีน้อยก็ให้น้อย ไม่มีเงินก็ช่วยแรงงานแทน โดยทำเป็นรูปธรรม ไม่ต้องรอให้บริษัทมีฐานะก่อน ซึ่งเป็นการลงตัวทั้งธุรกิจและชีวิต

โดยการทำธุรกิจในปัจจุบันของบริษัทได้พยายามนำโนว์ฮาวด้านไอทีไปช่วยในโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคม มากกว่าเจาะลูกค้ารายองค์กร ซึ่งถือเป็นการทำประโยชน์ต่อส่วนรวมแนวทางหนึ่ง ไม่ใช่มุ่งแต่หากำไร หรือรายได้สูงสุดเข้าบริษัท

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทได้รับมอบหมายจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้ดำเนินโครงการศึกษา และจัดทำฐานข้อมูลกลุ่ม องค์กร พื้นที่ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต ระยะที่ 2 เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างกระบวนการเรียนรู้ และการเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงรอบใหม่ ที่มีอายุการทำงานอีก 1 ปีครึ่ง จากที่เคยทำงานให้ สกว. เมื่อปี 2547

นอกจากนี้ ยังนำความรู้ความชำนาญเดิมด้านเวบ และไอที มาเขียนเวบ แอพพลิเคชั่น ให้กับองค์กร และช่วยงานด้านวิจัย ซึ่งต้องใช้ฐานข้อมูล และเสิร์ช เอ็นจิ้นมาเกี่ยวข้อง

รวมทั้งจัดตั้งบริษัทซอฟต์แวร์เฉพาะทาง ชริมพ์ เน็ตเวิร์ก ทำโปรแกรมติดตามห่วงโซ่อาหาร (Food Trace) ร่วมกับคนในวงการกุ้ง ด้วยการเข้าไปวิเคราะห์ข้อมูลที่อยู่ในฟาร์ม ให้เจ้าของฟาร์มกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน ซึ่งเป็นการมององค์ความรู้ด้านซอฟต์แวร์โดยรวม ไม่ใช่สแตนอะโลน

ขณะเดียวกัน จากการอยู่ในวงการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มานานพอสมควร จึงเห็นถึงความไม่เชื่อมั่นของคนในประเทศต่อการลงทุนใช้ซอฟต์แวร์จากผู้พัฒนาในประเทศ เช่น การลงทุนซอฟต์แวร์หลักแสนหรือล้านบาท ก็จะเลือกใช้ของต่างประเทศเป็นหลัก เพราะได้รับความมั่นใจมากกว่า

ดังนั้น เขาแนะนำว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โดยรวมของประเทศ จะต้องเริ่มจากการคิดกลยุทธ์ให้อุตสาหกรรมก้าวต่อไปข้างหน้า ไม่ใช่การคิดค้าขายเพียงวันๆ ตามพื้นฐานความเป็นพ่อค้า เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ แอนิเมชัน และมัลติมีเดีย ต้องมองถึงตัวเนื้อหาที่ดึงดูดก่อน ไม่ใช่คิดชั้นเดียวด้วยการสร้างรูปแบบขึ้นก่อนคำนึงถึงเนื้อหา

"ความสำเร็จของเกาหลี ที่ไทยยึดเป็นต้นแบบ ก็เริ่มจากการคิดและขายเนื้อหาก่อน ไม่ใช่ขายตัวแอนิเมชัน หากมีเนื้อหาที่ดึงดูดแล้ว ค่อยสื่อออกไป จะได้ผลมากกว่า ฉะนั้น การลงทุนให้ผู้ผลิตก่อนจะได้ผลกว่า เช่น การสนับสนุนทุนฝึกอบรมบุคลากรด้านไอที ซอฟต์แวร์ ที่เป็นปัญหาหลักของประเทศ หากรัฐลงมาสนับสนุน แม้คนจะหมุนเวียนจากบริษัทนั้นไปบริษัทนี้ แต่ก็เป็นการหมุนเวียนในวงการ ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โดยรวม" พิพัฒน์ บอก

โดยปัจจุบัน เห็นว่า ประเทศไทยมีแผนและนโยบายสนับสนุนไอทีอยู่แล้ว แต่ขึ้นกับว่า จะแตกออกมาอย่างไรให้เห็นผล เช่น การนำอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไปสนับสนุนอุตสาหกรรมหลัก เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ตามลำพังไม่ได้ รัฐจะต้องส่งเสริมบรรยากาศแห่งการรวมกลุ่ม แล้วสร้างผลงานขึ้น ไม่ใช่การสร้างกระแสเท่านั้น

เปิดปีใหม่ด้วยความคิดเห็นในอีกกรอบหนึ่ง ที่ไม่มุ่งกำไรสูงสุดเป็นตัวตั้ง หากเป็นการทำธุรกิจ โดยคำนึงถึงคุณธรรมหรือสังคมด้วย ไม่เน้นรายได้สูงสุด หรือตั้งเป้าสู่ความเป็นหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องมีผลตอบแทนสังคมบ้าง อาจจะเป็นในทางตรง หรือทางอ้อมก็แล้วแต่ ลดประโยชน์ตัวเองลง เพิ่มประโยชน์ชาติบ้าง ไม่ต้องกอบโกยกำไรเป็นหลักพันล้าน หมื่นล้านบาท น่าจะเป็นอีกเทรนด์หนึ่งของการทำธุรกิจยุคใหม่ ที่สดใสกว่าเดิม


 
     
ThaiURL.com © All Rights Reserved. Copyright 1999-2018 Please read our disclaimer